เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป

เหตุใดคนโบราณทํา “คอก” แคบๆ ล้อมพระพุทธรูป

ตามโบราณสถานที่เมืองเก่าสุโขทัยหรือตามวัดเก่าๆ ในล้านนา อยุธยา สุพรรณบุรี ฯลฯ จะพบอาคารรูปทรงแปลกอย่างหนึ่งที่อาจได้รับการเรียกชื่อตามรูปลักษณะของการก่อสร้างว่าเป็นมณฑปบ้าง ปราสาทบ้าง หรือวิหารบ้าง ฯลฯ แต่ก็ยังมิได้มีการอธิบายว่าสิ่งก่อสร้างนั้นมีความหมายหรือประโยชน์ใช้สอย อะไรภายในวัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งก่อสร้างดังกล่าวนั้น ในปัจจุบันไม่มีการทําขึ้นแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ทําขึ้นโดยไม่เข้าใจความหมายเดิม
 
ตัวอย่างของอาคารสิ่งก่อสร้างดังกล่าวแล้ว จะขอยกมากล่าวถึง เช่น ในวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย ที่ข้างๆ เจดีย์ประธานจะมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนยืนอยู่ 2 องค์ เป็นพระที่มีความสูงกว่าตัวคนหลายเท่า ล้อมรอบพระพุทธรูปยืนมีผนังของอาคารก่อด้วยอิน ล้อมรอบ 3 ด้าน เหลือด้านหน้าเป็นช่องซุ้มประตูเปิดออก ผู้ที่ได้ชมบางคนอุทานด้วยความแปลกใจว่า
 
เหตุใดคนในสมัยโบราณจึงทํา“คอก”แคบๆ ล้อมพระพุทธรูปไว้อย่างนั้น (ซึ่งถ้าหากพระพุทธรูปอยากจะนั่งลงบ้างก็จะลงประทับนั่งไม่ได้เพราะผนังที่แคบอยู่ชิดทั้งสองข้าง ไม่อนุญาตให้พระแบะหัวเข่าออกเพื่อลงประทับในท่าขัดสมาธิ นอกจากจะทรงประทับนั่งชันเข่า ซึ่งพระพุทธรูปจะไม่ประทับแบบนั้น)
 
วัดศรีชุมเมืองเก่าสุโขทัย เป็นอาคารมีแผนผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในอาคารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ประทับเต็มพื้นที่ในปางมารวิชัย พระชานุ (หัวเข่า) ทั้งสองข้างของพระพุทธรูปยื่นล้ำเกินแนวผนังทั้งสอง ทําให้ต้องก่อผนังทั้งสองด้านเว้าลึกเข้าไปเพื่อหลีกให้แก่เข่าขององค์พระ ด้านหลังขององค์พระก่อชิดผนัง ด้านหน้ามีที่ว่างแคบๆ ก่อนที่จะเป็นช่องของซุ้มประตูทางเข้าแคบๆ ของผนังด้านหน้า แต่ก่อนเคยมีนักวิชาการบางท่านให้ข้อสังเกตว่า การทําห้องให้แคบเกินไป (จนเข่าพระยื่นแนวผนัง) แสดงว่า การก่อสร้างตัวอาคารกับการก่อองค์พระพุทธรูปดําเนินการต่างเวลา และแนวคิดกัน ทําให้ตัวอาคารกับองค์พระพุทธรูปไม่พอดีกัน
 
ความจริงการทําอาคารแคบๆ สําหรับพระพุทธรูปนั่งพบทั่วไปตามโบราณสถานของแคว้นสุโขทัย ยังเหลือให้เห็นอย่างชัดเจนที่เมืองศรีสัชนาลัย เช่น วัดสระปทุม วัดกุฎีราย วัดสวนแก้วอุทยานน้อย เป็นต้น ในแคว้นล้านนาก็พบทั่วไปที่เมืองเชียงแสน เช่น วัดพระธาตุ (วัดพระ รอด) ที่เมืองเชียงใหม่ เช่น วัดพระสิงห์ในส่วนที่เป็นมณฑปด้านหลัง ต่อกับวิหารลายคํา และที่เมืองลําปางในวิหารโถงของวัดพระธาตุลําปางหลวง ภายในวิหารเป็นที่ตั้งของปราสาทก่ออิฐถือปูน สร้างครอบพระด้านหน้า พระพุทธรูปประทับอยู่ภายใน มีซุ้มช่องหน้าต่างเปิดให้เห็น
 
ในภาคกลางที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปเก่าที่มีมาก่อนปีสถาปนากรุงศรีอยุธยา ประทับปางมารวิชัยในวิหารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเครื่องไม้ ภายในวิหารจึงมีเสาเพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาอาคารขนาดใหญ่หลายต้น ทําให้เสาเหล่านี้เกะกะตั้งประชิดหน้าตักบังพระพุทธรูปหลายต้น แม้จะมีที่ว่างรอบๆ พระพุทธรูปภายในวิหาร แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่แคบๆ เท่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปนั้นประทับอยู่เต็มพื้นที่ในวิหาร
 
 
หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ (ภาพจาก Ahoerstemeier / wikimedia commons) CC BY-SA 3.0
ที่วัดใหญ่หรือวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีวิหารขนาดใหญ่ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างคลุมอาคารโบราณขนาดเล็กซึ่งส่วนที่เป็นหลังคาพังหมดแล้ว ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ภายในวิหารที่ สร้างคลุม อาคารโบราณนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับบนพระอาสน์ ห้อยพระบาทลง (เหมือนนั่งเก้าอี้) เป็นพระพุทธรูปสมัย ทวารวดีตอนปลายที่มีการซ่อมแซมจนแทบไม่เหลือเค้าของเดิมแล้ว องค์พระประทับชิดผนังด้านหลัง ด้านข้างทั้งสองเป็นผนังของอาคารที่ บีบชิดเข้ามาติดกับพระพาหา (หัวไหล่) ขององค์พระ ด้านหน้าเปิดโล่ง ติดต่อกับวิหารโถงขนาดเล็กที่เหลือเพียงแนวเสา ลักษณะของอาคารโบราณนี้อีกเช่นกันที่ดูแล้วเหมือนกับพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทอยู่ใน “คอก” แคบๆ
 
โดยเฉพาะพระพุทธรูปนอนหรือพระไสยาสน์ขนาดใหญ่ ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ วัดพระธาตุแช่ แห้งเมืองน่าน วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ที่กรุงเทพฯ หรือวัดพระรูปที่สุพรรณบุรี ฯลฯ พระพุทธรูปไสยาสน์ที่มีอยู่ตามวัดเหล่านี้จะคลุมด้วย วิหารที่มีขนาดพอดีกับองค์พระเท่านั้น จะมีที่ว่างเหลือภายในอาคารก็เป็นเพียงพื้นที่แคบๆ หน้าองค์พระ จนกระทั่งบางวัด เช่น วัดพระนอน ขอนม่วง อําเภอแม่ริม เชียงใหม่ ทนความอึดอัดไม่ได้ต้องขยายพื้นที่ ภายในอาคารให้กว้างมากขึ้น โดยสร้างวิหารให้ใหม่เสียเลย จึงเท่ากับเป็นการทําลายความหมายของอาคารแคบๆ แบบเดิมให้หมดไป
 
สรุปเท่าที่กล่าวมานี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงอาคารโบราณ ประเภทหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มีทั้งพระพุทธรูปยืน นั่ง และไสยาสน์ ความแปลกของอาคารประเภทนี้อยู่ที่การทําอาคารให้มีพื้นที่ภายในแคบมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับองค์พระที่ประดิษฐานอยู่ จนทําให้เหลือพื้นที่ภายในน้อยมาก บางแห่งคนไม่สามารถจะเข้าไปกราบไหว้พระภายในอาคารได้ (เพราะไม่มีพื้นที่พอ) มีบางแห่งเช่นที่ วัดศรีชุม สุโขทัย วัดพนัญเชิง อยุธยา หรือวัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ ที่คนสามารถเข้าไปสักการบูชาภายในพื้นที่แคบๆ นั้นได้ แต่ผู้ที่เข้าไปนมัสการก็จะต้องรู้สึกอึดอัด เนื่องจากที่ว่างที่เว้นไว้นั้นมีน้อยนิด เมื่อเทียบสัดส่วนกับพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ลักษณะอาคารที่มีพื้นที่คับแคบเช่นนี้ ไม่น่าจะเนื่องมาจากความผิดพลาดของการออกแบบก่อสร้าง
 
แต่น่าจะเนื่องมาจากเพื่อแสดงความหมายบางประการมากกว่า และเพื่อที่จะให้ทราบความหมาย จําเป็นที่จะต้องศึกษากิจประจําวันของพระพุทธองค์ขณะประทับในพระอารามเพราะค่อนข้างชัดเจนตามที่ปรากฏในเอกสารตํานานล้านนา รวมทั้งหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ด้วย เมื่อกล่าวถึงการสร้างวัด จะไม่กล่าวว่าสร้างพระพุทธรูปในวัด แต่จะกล่าวว่าสร้างวัดโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
 
ในพระอรรถกถาแห่งกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ 2 (พระไตรปิฎก ฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัย) กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีกิจประจําวัน 5 อย่าง คือ
 
1. กิจในปุเรภัต ทรงลุกแต่เช้า หลังจากทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว “…ทรงใช้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร…” แล้วเสร็จโปรดสัตว์ เสวยพระกระยาหาร ทรงรอจนภิกษุทั้ง หลายฉันเสร็จ จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี
 
2. กิจในปัจฉาภัต ในเวลาหลังเพล “…ถ้าพระองค์มีพุทธประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสําเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่งโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ลำดับนั้นทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลุกขึ้น…” แล้วทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกันอยู่
 
3. กิจในปุริมยาม ทรงโสรจสรงพระวรกายในซุ้มสรง แล้วเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งหนึ่งก่อนพระภิกษุจะเข้ามาถามปัญหา ขอฟังธรรม ฯลฯ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุ
 
4. กิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกลับไปแล้วก็เป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน เป็นเวลาที่ทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายกับ เหล่าเทวดา
 
5. กิจในปัจฉิมยาม เมื่อเทวดาทั้งหลายกลับไปแล้ว ทรงแบ่งเวลาที่เหลือลอกเป็นสามส่วน คือทรงเดินจงกรมส่วนหนึ่ง ส่วนที่สอง “…พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีสติสัมปชัญญะสําเร็จสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา…” ในส่วนที่สามพระองค์ลุกขึ้น ประทับตรวจดูสัตว์โลกที่ควรตรัสรู้และที่ยังไม่ควรตรัสรู้ (เพื่อเตรียมออกโปรดสัตว์ตามกิจในปุเรภัตในลําดับต่อไป)
 
จากพุทธกิจที่กล่าวข้างต้นใน 5 ช่วงเวลานั้น จะเห็นว่าในบางช่วงเวลา พระพุทธองค์ทรงต้องมีความเป็นส่วนพระองค์ภายในพระคันธกุฎี ทั้งนี้เพื่อทรงพักผ่อนพระวรกายโดยการนั่งหรือบางครั้งก็ทรงนอนลงสักครู่ (สีหไสยาสน์) บางครั้งการเป็นส่วนพระองค์นี้ก็เพื่อทรงปฏิบัติพุทธกิจในการตรวจดูสัตว์โลกต่างๆ ด้วยพุทธจักษุ เพื่อเตรียมที่จะเสด็จออกโปรดตามควรแก่พื้นฐานของสัตว์โลกนั้นๆ
 
ในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงจําเป็นต้องมีความเป็นส่วนพระองค์นี้ พระไตรปิฎกฉบับแปลของมหามกุฏราชวิทยาลัยมักจะใช้คำแปลว่า “ทรงเร้นกายอยู่” ในพระคันธกุฎี ซึ่งคําว่า “เร้นกายอยู่” นี้ ในปัจจุบันได้มีการคิดคําใหม่ขึ้นมาใช้คือคําว่า “ปลีกวิเวก” ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคําที่ให้ความหมายตรงกับช่วงเวลาในพุทธกิจนี้เป็นอย่างมาก จึงได้นํามาใช้ตั้งเป็นชื่อเรื่อง ด้วยเสียดายคําดีๆ ที่ถูกเอา ไปใช้กับพฤติกรรมแอบแฝงของผู้ที่อ้างตัวเป็นสงฆ์บางคนที่ไม่ต้องกับความหมาย
 
ในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงปลีกวิเวกในพระคันธกุฎีนี้ เป็นที่ทราบกันดีในหมู่เทพและมนุษย์ว่า ไม่ควรมีใครเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ ดังเช่นในพระสุตตันตปิฎกตอนพรหมสังยุตต์ อันเป็นตอนที่รวมพระสูตรเกี่ยวกับพระพรหมที่เข้ามาเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบางพระสูตรกล่าวถึงพระพรหมบางองค์ที่มาเข้าเฝ้าผิดเวลาเพราะเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธองค์กําลังทรงปลีกวิเวกอยู่ พระพรหมท่านนี้จึงต้องแอบอยู่ข้างประตูไม่กล้าเข้าไปรบกวน ได้แต่ซุบซิบสนทนาธรรม กับผู้อื่นข้างบานประตูนั้น
 
จากตัวอย่างข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมากล่าว สามารถนํามาเป็นแนวคิดในการพิจารณาความหมายของการทําอาคารแคบๆ คลุมพอดีองค์พระพุทธรูปได้ว่า ช่างสมัยโบราณมีความเข้าใจและต้องการ เน้นถึงคันธกุฎีหรือกุฏิของพระพุทธองค์ว่าเป็นสถานที่เฉพาะส่วนพระองค์ในช่วงเวลาที่ทรงปลีกวิเวกในพระอาราม ซึ่งจะเห็นชัดเจนมากสําหรับคันธกุฎีที่คลุมพระพุทธรูปไสยาสน์อันเป็นอิริยาบถที่แสดง การพักผ่อนพระวรกายอย่างสูงสุดของพระพุทธองค์นั้น จะไม่มีการทําเป็นอาคารกว้างขวางเกินความพอดีที่จะคลุมองค์พระปฏิมาเลย เพราะทราบดีว่าเวลานี้มิใช่เวลาที่จะมีใครเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ แม้เพื่อการสักการบูชาก็ตาม
 
เมื่อเป็นเช่นนี้อาคารที่เป็นคันธกุฎีนี้จึงมักจะทําวิหารอยู่ข้างหน้า เชื่อมติดกับส่วนที่เป็นคันธกุฎีแคบๆ พอดีองค์พระ สําหรับพระพุทธ รูปนั่งมีตัวอย่าง เช่น วัดศรีชุม สุโขทัย วัดสระปทุม วัดกุฎีราย ศรีสัช นาลัย วิหารลายคําวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นต้น สําหรับพระนอนก็มี เช่น ที่วัดพระนอนเมืองเก่ากําแพงเพชร วิหารพระนอนด้านหน้าเจดีย์ห้ายอดในวัดมหาธาตุเมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น
 
วิหารที่เชื่อมต่ออยู่ด้านหน้าคันธกุฎีที่กล่าวนี้ เป็นการแบ่งพื้นที่ สําหรับคนที่เข้ามาสักการบูชา มิให้เข้าไปปะปนรบกวนกุฏิส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการที่คนเดี๋ยวนี้เข้าไปไหว้ พระในพื้นที่แคบๆ ที่พอมีอยู่บ้างของอาคารประเภทนี้ เช่น ที่วัดพนัญเชิง อยุธยา วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย หรือภายในอาคารของพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ตามวัดต่างๆ นั้น จึงเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ของการออกแบบก่อสร้าง และเป็นการใช้อย่างผิดความหมาย ของสถานที่ (เพราะเข้าไปรบกวนพระพุทธเจ้าขณะทรงปลีกวิเวก)
 
ผู้เขียนขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่เป็นคันธกุฎี ที่แสดงความหมายการเป็นกุฏิส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการทําเป็นอาคารแคบๆ พอดีกับองค์พระปฏิมาว่า ในภาคกลางสิ่งก่อสร้างแบบนี้ได้เลิกทําไปก่อนที่อื่นๆ ในล้านนาได้มีการพัฒนารูปแบบมาเป็นปราสาทตั้งอยู่ภายในวิหารเช่นดังกล่าวแล้วที่วัดพระธาตุลําปางหลวง นอกจากนี้ยังมีให้เห็นในวิหารวัดพระธาตุจอมทอง อําเภอจอมทอง เชียงใหม่ ในวิหารวัดดอนสัก อําเภอลับแล อุตรดิตถ์ เป็นต้น
 
ที่วัดช้างค้ำ อําเภอเมืองน่าน มีการทําให้เล็กลงขนาดประมาณ เท่าศาลพระภูมิ เรียกว่าเรือนคฤห์ ตั้งอยู่กลางแจ้งโดดๆภายในบริเวณวัด ซึ่งน่าจะได้ผสมผสานกับคติความเชื่อของท้องถิ่นบางอย่างเข้ากับพระพุทธศาสนาแล้ว
 
คันธกุฎีของภาคอีสานกับของลาวล้านช้างจะทําเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดย่อมเรียกในภาษาพื้นเมืองว่า “อูบมุง” หรือบางแห่งก็เรียกว่า “กู่” ตั้งอยู่โดดๆ ภายในบริเวณวัด ได้มีพัฒนาการในลําดับต่อมาเช่นเดียวกับของล้านนา โดยการนํามาสร้างไว้ในโบสถ์หรือวิหาร เป็นอูบหรือกู่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายใน ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งของพระประธานของโบสถ์วิหารแบบพื้นเมืองที่พบอยู่ทั่วไป