เครื่องบวชพระ-กฐิน

   
หากมีลูกชายบ้านไหนจะบวชพระ คนเป็นพ่อเป็นแม่คงปลื้มปริ่ม รีบจะจัดหาฤกษ์ยาม ข้าวของเครื่องใช้ให้พร้อมสรรพ และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ เครื่องบวชพระ ของดำรงชีพที่พระบวชใหม่ทุกรูปต้องมีเอาไว้ใช้ แต่มีใครรู้บ้างคะ ว่าเครื่องบวชพระมีอะไรบ้าง แล้วความสำคัญของเครื่องบวชพระแท้จริงแล้วคืออะไร การรู้ถึงหลักการและรายละเอียดที่ถูกต้อง จะช่วยให้เราสามารถถวายได้อย่างถูกต้อง และผู้รับก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
 

ความสำคัญของการบวช
 

ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องเครื่องบวชพระ เราควรทราบก่อนว่าการบวชคืออะไร และจุดประสงค์ที่แท้จริงของการบวชคืออะไร การบวช เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน ชายไทยเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จะต้องบวชให้ได้กสักครั้งในชีวิต อันที่จริงแล้ว การบวชเป็นเป็นพระภิกษุ ถ้าว่ากันตามประเพณีที่มีมา เรามักจะได้ยินกันว่า บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ แต่ในมุมมองของพระพุทธศาสนา นั่นไม่ใช่เหตุผลหลักของการบวช เพราะถ้าเรายังไม่ฝึกฝนอบรมตัวเองให้ดีขึ้น ก็จะไม่มีความดีอะไรไปทดแทนพระคุณพ่อแม่ ดังนั้น วัตถุประสงค์อันดับแรกของการบวช คือ บวชเพื่อแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง เมื่อเราบวช ความเป็นพระจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ทันทีที่บวช ผู้บวชจะต้องรู้ว่า ต่อไปนี้ตัวของเราจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายแค่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังต้องอยู่ใต้พระธรรมวินัยและจารีตประเพณีของพระพุทธศาสนาอีกด้วย

เครื่องบวชพระคืออะไร
 

มือใหม่หัดบวชหลายคนสงสัย ว่าการบวชนั้น เราจะต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้อะไรบ้าง ซึ่งที่ต้องมีเตรียมอยู่แล้วคือ อัฐบริขารทั้ง 8 อย่าง แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีสิ่งของที่ต้องเตรียมด้วยเช่นกัน เราเรียกกันว่า เครื่องบวชพระ ก็หมายถึง ของที่ต้องมีก่อนบวชพระนั่นเอง 
  การเตรียมของไปบวชนั้น อาจจะดูด้วยว่าภายในกุฎิที่เราจะไปอยู่มีอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัด ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อชุดเครื่องบวชพระได้ครบตามชุดที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือเลือกซื้อตามความจำเป็นและงบประมาณ เช่น บางท่านอาจจะบวชในระยะเวลาที่ไม่นาน หรือบางท่านมีงบประมาณที่จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ ชุดเครื่องบวชพระมาตรฐานทั่ว ๆ ไปนั้น จะประกอบไปด้วย

  1. ผ้าไตรจีวร 1 ชุด ประกอบด้วย สังฆาฎิ (ผ้าพาดบ่า) จีวร สบง (ผ้านุ่ง) อังสะ (เสื้อทับด้านใน) ประคตเอว (เข็มขัด)
  2. บาตร พร้อมเชิงรอง (ขาบาตร) และถลกบาตร (ถุงบาตร)
  3. สัปทน คือร่มผ้าขนาดใหญ่ ที่ทำด้วยผ้าหรือแพรสีต่าง ๆ มีระบายรอบ มีด้ามยาว ใช้สำหรับกั้นนาค 
ผ้าไตร หรือ พระพุทธรูป
  4. ตาลปัตร
  5. ปิ่นโต 
  6. กรวยอุปัชฌาย์ - คู่สวด
  7. ย่ามพระ
  8. ชุดที่นอน ได้แก่ เสื่อ หมอนหนุน ผ้าห่ม
  9. ต้นเทียนถวายอุปัชฌาย์
  10. ดอกไม้คลุมไตร
  11. พานแพธูป แพเทียน
  12. อาสนะ
  13. ชุดนาค
ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นเครื่องบวชพระตามมาตรฐานทั่ว ๆ ไป แต่ทั้งนี้ ผู้จะบวชอาจต้องสอบถามไปยัง ทางวัดอีกทีว่ามีสิ่งของอะไรบ้างที่ยังขาด อะไรที่จะต้องเตรียมไปเอง หรือทางวัดมีอะไรให้แล้วบ้าง ซึ่งนอกจากนี้ ผู้จะบวชสามารถเตรียมสิ่งของที่จะบวชได้เพิ่มเติมจากเครื่องบวชพระที่มีขายเป็นชุด ดังนี้
  1. เครื่องอาบน้ำ ประกอบด้วย สบู่ แชมพู แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว บางวัดจะต้องเตรียมผ้าอาบน้ำฝนด้วย
  2. อุปกรณ์ฉันเช้า เช่น ผ้าปูอาสนะ ผ้าเช็ดบาตร ผ้ารองตัก ช้อนแกง
  3. ของใช้ประจำตัวและยารักษาโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า กระดาษชำระ ร่ม รองเท้า นาฬิกาปลุก ไฟฉาย
  4. ในกรณีที่บวชนานกว่า 7 วัน ควรเพิ่มจำนวนไตรอาศัยอีก 1 ชุด
  5. บางวัดอาจจะต้องเตรียมมุ้งหรือกลดไปเอง
  6. เหรียญสำหรับโปรยทาน
การเลือกซื้อเครื่องบวชพระ สิ่งสำคัญจะต้องดูปัจจัยต่าง ๆ ของตัวผู้บวช อาทิ ระยะเวลาในการบวช สถานที่ที่จะต้องไปบวช งบประมาณในการจัดงาน และการตระเตรียมสิ่งของให้ครบถ้วน และสิ่งสำคัญที่สุดคือจิตใจของผู้จะบวช จะต้องมีความแน่วแน่ พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์