เล่าสู่กันฟัง “เหตุใดพระพุทธรูปประจำวันเกิดจึงเป็นปางนั้นๆ”

เล่าสู่กันฟัง “เหตุใดพระพุทธรูปประจำวันเกิดจึงเป็นปางนั้นๆ”

     หากเอ่ยถึงพระพุทธรูปประจำวันเกิด เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันดี เพราะปัจจุบันเวลาไปวัดเรามักจะเห็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดตั้งเรียงรายให้ศาสนิกชนได้ทำบุญตามแต่ศรัทธา โดยมากจะมี ๗ + ๑ ปางตามวันในสัปดาห์คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ โดยมีวันราหูคือพุธกลางคืนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปาง รวมเป็น ๘ วัน ๘ ปาง
 
     ทำไมต้องมีวันพุธกลางคืนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง ก็เพราะว่าในวิชาโหราศาสตร์ถือว่าดวงดาวสำคัญมีอยู่ ๘ ดวง โดยราหูเป็นดาวดวงที่ ๘ แต่ในสัปดาห์หนึ่งมีเพียง ๗ วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เพียงให้มีวันครบตามดวงดาวดังกล่าว เขาจึงได้แบ่งวันกลางสัปดาห์ออกเป็น ๒ ส่วน (คงเพราะง่ายต่อการแบ่งและสะดวกต่อการจดจำ) ซึ่งวันที่ถูกแบ่งก็คือวันพุธนั่นเอง เพราะอยู่กลางสัปดาห์พอดี ทั้งนี้ ตามความเชื่อโบราณ ช่วงเวลากลางวันจะนับตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๑๗.๕๙ น. (ก่อน ๖ โมงเย็น) และช่วงกลางคืน ตั้งแต่ ๑๘.๐๐ -๐๕.๕๙ น. (ก่อน ๖ โมงเช้า)
 
     การกำหนดพระพุทธรูปแต่ละปางให้ตรงกับแต่ละวันในสัปดาห์นั้นมีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด เพราะการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆก็มีมาแต่สมัยโบราณแล้ว โดยเชื่อว่าพระพุทธรูปซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์จะเป็นพุทธานุสติน้อมนำใจให้คนปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน อีกทั้งยังเป็นโบราณอุบายของคนสมัยก่อนที่จะหาที่พึ่งทางใจให้แก่ตนเองและลูกหลาน รวมทั้งเชื่อว่าการบูชาพระพุทธรูปประจำวันเกิดจะเป็นมงคล ช่วยปัดเป่าเหตุร้ายต่างๆให้กลายเป็นดี
 
     พระพุทธรูปปางใดประจำวันใดในสัปดาห์ และเหตุใดจึงต้องเป็นปางนั้น จะขอนำแนวคิดและมุมมองบางส่วนของอาจารย์เล็ก พลูโต ที่ได้ศึกษาความหมายของดวงดาวตามหลักโหราศาสตร์ และได้อธิบายไว้ได้อย่างน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
 
     ๑.ปางถวายเนตร เป็นพระประจำวันอาทิตย์ มาจากเมื่อครั้งพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความสงบ) อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นได้เสด็จไปประทับยืน ณ กลางแจ้งทางทิศอีสานของต้นศรีมหาโพธิ์ และทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์ดังกล่าวโดยไม่กระพริบพระเนตรเลยเป็นเวลา ๗ วัน ซึ่งสถานที่ประทับยืนนี้ได้มีชื่อเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์”
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้เป็นพระประจำวันอาทิตย์ น่าจะมาจากการน้อมบูชาพระอาทิตย์ด้วยการเพ่ง "อาโลกกสิณ” (เพ่งแสงสว่าง) เพราะการเสด็จยืนและลืมพระเนตรเพ่งต้นศรีมหาโพธิ์ทางทิศอีสานนั้น เป็นทิศเดียวกับดวงอาทิตย์ในภูมิทักษา (การพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ดาวพระเคราะห์ ๙ ดวงเป็นเกณฑ์) และดวงอาทิตย์ยังมีความหมายถึงดวงตาด้วย ทั้งนี้ อ.เล็กได้กล่าวว่าการบูชา "สุริยเทพ”นี้มีมาแต่โบราณ ด้วยเห็นว่าดวงอาทิตย์เป็นบ่อเกิดแห่งพลังงาน และให้แสงสว่างแก่โลก จึงเป็นดังผู้มีคุณ ดังนั้น การบูชาสิ่งที่มีคุณจึงเป็นสิ่งสมควร แม้พระพุทธองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้เย่อหยิ่ง ถือองค์ว่าเหนือกว่า ดังนั้น ปางนี้จึงเป็นเสมือนอุทาหรณ์สอนใจให้ผู้ที่เกิดวันนี้ ซึ่งมักมีอุปนิสัยรักเกียรติ รักศักดิ์ศรี ชอบเป็นผู้นำ และมักหยิ่งทะนงตนว่าให้รู้จักเจริญรอยตามพระพุทธองค์ที่ทรงนอบน้อม ถ่อมตน ไม่ถือดี และว่าการบูชาพระปางนี้ก็เพื่อเสริมบารมีด้านความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้าด้วยเกียรติยศ ขจัดความมืดบอด และปัญหาอุปสรรคต่างๆ
 
     ๒.ปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร เป็นพระประจำวันจันทร์ จะมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย คือ ถ้าเป็นปางห้ามญาติจะยกมือขวาขึ้นเพียงมือเดียว แต่ถ้าเป็นปางห้ามสมุทรจะยกมือขึ้นห้ามทั้งสองข้าง ความเป็นมาของปางห้ามญาติสืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งกรุงกบิลพัสดุ์ พระญาติฝ่ายพุทธบิดา กับกรุงเทวทหะ พระญาติฝ่ายพุทธมารดา มีเรื่องทะเลาะแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเพื่อไปเพาะปลูก แล้วตกลงกันไม่ได้ ถึงกับเตรียมยกทัพเปิดศึกกันขึ้น พระพุทธองค์จึงต้องเสด็จไปเจรจาห้ามทัพมิให้พระญาติฆ่าฟันกันเอง ส่วนปางห้ามสมุทร เป็นช่วงที่เสด็จไปโปรดพวกชฎิล ๓ พี่น้องอันได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราพร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน ครานั้นได้ทรงแสดงพุทธปาฏิหารย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของเหล่าชฎิลทั้งหลาย ด้วยการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำมิให้ท่วมบริเวณที่ประทับ ทำให้พวกชฎิลเห็นเป็นที่อัศจรรย์และยอมบวชเป็นพุทธสาวก
 
     เหตุที่กำหนดทั้งสองปางนี้ประจำวันจันทร์ ก็เพราะทางโหราศาสตร์ ดาวจันทร์จะมีความหมายถึงรูปร่างหน้าตา ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ ผู้ที่เกิดวันนี้จึงมักมีอารมณ์อ่อนไหว ปรับตัวง่าย นอกจากนี้ดาวจันทร์ยังหมายถึงญาติพี่น้อง และจัดเป็นธาตุน้ำ ซึ่งทั้งสองปางนี้ตามพุทธประวัติล้วนเกี่ยวข้องกับน้ำและญาติ ซึ่งนัยก็คือการเตือนให้ระลึกถึงความสามัคคีในหมู่พี่น้อง และยังได้พูดถึงอานิสงส์แห่งการบูชาพระปางนี้ว่าจะช่วยห้ามทุกข์ ห้ามโศก ห้ามโรคห้ามภัย ฯลฯ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามน้ำ ห้ามฝนพายุ ครั้งทรมานให้พวกชฎิลยอมละทิฐิ
 
     ๓.ปางไสยาสน์ เป็นพระประจำวันอังคาร บางแห่งก็เรียก ปางปรินิพพาน ความเป็นมาของปางดังกล่าวมี ๒ นัย นัยแรกคือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงประทับ บรรมแบบสีหไสยาสน์ ตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททะปริพาชกจนได้เป็นอรหันต์องค์สุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน อีกนัยหนึ่งเล่าถึง "อสุรินทราหู” หรือพระราหู ผู้ครองอสูรพิภพ ได้ยินคำสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากเทพยดาทั้งหลาย ก็อยากไปเฝ้าบ้าง แต่ก็คิดเองว่าพระองค์เป็นมนุษย์ คงจะมีพระวรกายเล็ก ถ้าต้องไปเฝ้าก็ต้องก้มเศียรลง ก็รู้สึกถือตน ไม่อยากไป จนได้ยินคำสรรเสริญอีกก็ทนไม่ได้ จึงไปเข้าเฝ้าในที่สุด ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจนี้ จึงทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูหลายเท่า และเสด็จบรรทมรอรับ เมื่ออสุรินทราหูเข้าเฝ้าก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ ที่ต้องแหงนหน้ามองดูพระพุทธเจ้าแทนที่จะต้องก้มมอง พระองค์จึงได้ตรัสสอนและพาไปเที่ยวพรหมโลกเพื่อให้เห็นว่ามีผู้ที่มีร่างกายใหญ่กว่าอสุรินทราหูมากมาย จนอสุรินทราหูลดทิฐิลงได้และหันมาเลื่อมใสพระบรมศาสดา
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันอังคาร ก็เพราะดาวอังคารจัดเป็นดาวพิฆาตหรือดาวมรณะ และยังเป็นดาวเกี่ยวกับสงคราม และอุบัติเหตุ ดังนั้น ปางนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้คนวันนี้ดำรงชีวิตด้วยความมีสติ ระมัดระวังไม่ไปก่อเหตุกับใคร อีกทั้งวันที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานก็ตรงกับวันองคาร ส่วนที่กล่าวถึงการโปรดอสุรินทราหู นั้นน่าจะหมายถึงการขจัดความมัวเมาลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบ อันเป็นลักษณะของพระราหูด้วย
 
     ๔.ปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธกลางวัน มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้สำแดงอิทธิปาฏิหารย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระประยูรญาติทั้งหลายเพื่อให้คลายทิฐิ พร้อมทั้งได้เทศนาสั่งสอนว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ครั้นเสร็จสิ้นต่างพากันแยกย้ายกลับโดยไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาให้ฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าพระองค์และพระสาวกจะต้องฉันภัตตาหารที่มีเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์เอง แต่พระองค์กลับพาพระภิกษุสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ อันเป็นกิจของสงฆ์ และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เห็นพระจริยาวัตรขณะอุ้มบาตรโปรดสัตว์ จึงต่างกันแซ่ซ้องอภิวาท พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงทราบเข้า ก็โกรธและเข้าใจผิดหาว่าพระองค์ออกไปขอทานชาวบ้าน ไม่ฉันภัตตาหารที่เตรียมให้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงอธิบายถึงการออกบิณฑบาตว่าเป็นการออกไปเพื่อโปรดสัตว์ มิใช่การขอทาน จึงเข้าใจกันได้ในที่สุด
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันพุธกลางวัน ด้วยดาวพุธเป็นตัวแทนของการติดต่อสื่อสาร การเดินทาง พาหนะ พืชพันธุ์ธัญญาหารและเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้อง ซึ่งตรงกับลักษณะการออกไปบิณฑบาตที่ต้องออกไปหาอาหารเพื่อปากท้อง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการไปโปรดสัตว์ คอยสังเกตุทุกข์สุขของชาวบ้านเพื่อสอนธรรมะในการดับทุกข์ ปางนี้ถือกันว่าเมื่อบูชาแล้วจะประสบแต่ความอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยาก และมีเสน่ห์เมตตามหานิยม
 
     ปางป่าเลไลยก์ เป็นพระประจำวันพุธกลางคืน (ราว ๑๘.๐๐ น.วันพุธ -๐๖.๐๐ น.เช้าพฤหัสบดี) มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่เมืองโกสัมพี แล้วพระภิกษุซึ่งมีอยู่มากรูปด้วยกันชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เชื่อฟัง และยังประพฤติตนตามใจชอบ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะตามลำพังพระองค์เดียว เวลานั้นได้มีพญาช้างชื่อเดียวกับป่ามาคอยปรนนิบัติและพิทักษ์มิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกรายพระองค์ ต่อมาพญาลิงเห็นเช่นนั้น ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง ส่วนชาวบ้านเมื่อไม่เห็นพระพุทธเจ้า และทราบเหตุก็พากันติเตียนและไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น จนพระเหล่านี้ได้สำนึก จึงได้ขอให้พระอานนท์ทูลเชิญเสด็จกลับมา พญาช้างได้ตามมาส่งเสด็จ และเกิดความเศร้าโศกเสียใจจนหัวใจวายตาย ด้วยผลบุญที่ทำจึงได้ไปเกิดเป็น "ปาลิไลยกะเทพบุตร”
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันพุธกลางคืน หรือวันราหู ก็ด้วยพระราหูมีความหมายถึงอบายมุข สิ่งเสพติด นักเลงอันธพาล อันส่งผลให้เกิดความมัวเมา ลุ่มหลง เชื่อคนง่าย เอาแต่ใจตนเอง ไม่มีเหตุผล ดังนั้น ปางป่าเลไลย์ฯอันเป็นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงปลีกวิเวก หนีไปจากพระสงฆ์ที่ชอบทะเลาะวิวาท ไม่ฟังโอวาท ถือทิฐิ จนเป็นเหตุให้ต่างต้องได้รับความลำบากกันเองนั้น จึงเสมือนการเตือนสติให้เราอย่าหลงผิด อย่าดื้อดึงจนเป็นเหตุให้ตัวเองต้องเดือดร้อน
 
     ๕.ปางสมาธิ เป็นพระประจำวันพฤหัสบดี บางทีก็เรียกว่า "ปางตรัสรู้” มาจากเมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้าคาใต้ต้นมหาโพธิ์ ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา และได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ หรือที่เรียกว่า "วันวิสาขบูชา” นั่นเอง
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันพฤหัสบดี ก็เพราะดาวพฤหัสบดีมีความหมายถึง ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง ศาสนาศีลธรรม และสติปัญญา ฯลฯ อีกทั้งยังถือเป็นวันครู ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นพระบรมครูที่ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทและเหล่าเวไนยสัตว์ ซึ่งปางตรัสรู้นี้จึงสอดคล้องกับลักษณะดาวพฤหัสบดีพอดี
 
     ๖.ปางรำพึง เป็นพระประจำวันศุกร์ โดยคำว่า "รำพึง" ตรงกับความหมายว่า ครุ่นคิด ตรึกตรอง ใคร่ครวญถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งในครั้งนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงคิดพิจารณาว่าธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งยากที่มนุษย์ปุถุชนจะรู้ตามได้ จึงเกิดความท้อพระทัยคิดจะไม่สั่งสอนชาวโลก ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมได้มากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม โดยทูลว่าในโลกนี้ยังมีบุคคลที่มีกิเลสเบาบางสามารถฟังธรรมของพระองค์เข้าใจได้อยู่ พระองค์จึงทรงรำพึงถึงธรรมเนียมพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อน ว่าตรัสรู้แล้วย่อมแสดงธรรมโปรดสัตว์เพื่อประโยชน์สุขแก่โลก จึงทรงเปลี่ยนพระทัยและเห็นชอบที่จะเสด็จออกไปแสดงธรรมแก่คนทั้งปวงตามคำอาราธนานั้น
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันศุกร์ ก็เพราะดาวศุกร์เป็นตัวแทนเกี่ยวกับโลกีย์ ที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด รวมถึงจินตนาการเข้าช่วย แล้วยังพ้องเสียงกับคำว่า "สุข” ที่มักไปในทางโลก รวมถึงการเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะ บันเทิงด้วย ดังนั้น การที่กำหนดปางรำพึงอันเป็นปางที่พระพุทธเจ้าทรงครุ่นคิดถึงธรรมะที่ทรงตรัสรู้อันเป็นเรื่องทวนกระแสใจของมนุษย์ จึงคล้ายๆกับการคิดในทางตรงกันข้าม เป็นการเตือนให้เราอย่าหลงระเริงไปในทางโลกให้มาก และให้ระลึกถึงหลักธรรมคำสั่งสอนไว้อยู่เสมอ ชีวิตจึงจะมีความสุข
 
     ๗.ปางนาคปรก เป็นพระประจำวันเสาร์ มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้ไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ขณะนั้นฝนได้ตกลงมาไม่หยุดเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคตนหนึ่งชื่อว่า "มุจลินท์นาคราช” ก็ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด ๗ รอบและแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้ จนฝนหาย จึงได้แปลงร่างเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
 
     เหตุที่กำหนดปางนี้ประจำวันเสาร์ ก็เพราะวันเสาร์เป็นวันแข็งและดาวเสาร์ก็เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ ผู้ที่เกิดวันนี้จึงมักอาภัพ มักมีเรื่องทุกข์ใจ ผิดหวัง และพบเจออุปสรรคอยู่เสมอ ดังนั้น โบราณจึงให้พระนาคปรก ประจำวันนี้ เปรียบเสมือนให้พญานาคราชได้แผ่พังพานปกป้องคุ้มครองให้เจ้าชะตาพ้นทุกข์และภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งดาวเสาร์ยังใช้เลข ๗ เป็นสัญลักษณ์ซึ่งตรงกับเศียรพญานาคและการวงขนดเป็น ๗ รอบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพระปางนี้ศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา ซึ่งสอนทางอ้อมให้ระลึกถึงอานิสงส์ของความเมตตาที่จะเกิดผลดีต่อ ผู้ปฏิบัติ ดังที่พญานาคยังขึ้นจากน้ำมาถวายอารักขาพระพุทธเจ้าก็ด้วยพลานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่สัมผัสได้ ดังนั้น คนวันเสาร์ที่มักเป็นคนเจ้าทุกข์ เขาจึงให้ฝึกมีเมตตาอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกข์คลายลง
 
     ทั้งหมดข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นอุบายธรรมของคนโบราณ ที่จะทำให้ผู้สักการะได้ทราบพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับปางนั้นๆ ส่วนเหตุผลที่ว่าปางใดตรงกับวันไหนนั้นเป็นการกำหนดจากลักษณะนิสัยความเชื่อทางโหราศาสตร์ ซึ่งบางท่านอาจจะเห็นต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบใด การบูชาพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ก็ล้วนให้ผลดีต่อเราทั้งสิ้น


ขอบคุณแหล่งที่มา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5215&filename=index