รอยพระพุทธบาท 60"


รอยพระพุทธบาท ขนาด 60"
วัสดุหล่อจากทองเหลืองหรืออัลลอยซึ่งมีข้อดีต่างกัน
1) 
รอยพระพุทธบาทวัสดุหล่อจากทองเหลือง แข็งแรงทนทานต่อทุกสภาพอากาศ
2) 
รอยพระพุทธบาทวัสดุหล่อจากอัลลอย น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย 
รอยพระพุทธบาทเคลือบด้วยสีน้ำทองสุกอร่าม เปล่งประกาย ดุจทองคำแท้


สอบถามราคา LINE: line.trithip
(บริการจารึกชื่อให้ฟรี)
(รับประกันคุณภาพด้วยประสบการณ์กว่า 40 ปี)


ความเป็นมา
ว่ากันว่ารอยพระพุทธบาทมีอยู่ 5 แห่งเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ เพื่อให้ชาวโลกได้นมัสการ คือ (1) ที่สุวรรณมาลิก (2) ที่สุวรรณบรรพต (3) ที่สุมนกูฏ (4) ที่โยนกประกาศ (5) ริมฝั่นน้ำนัมมทา

5 แห่งที่ว่านี้จะเป็นพระพุทธบาท original หรือไม่ ไม่ยืนยัน สงสัยจะเป็นพระพุทธบาทจำลองเสียมากกว่า เพราะไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ยุคต้นๆ 
ถ้าถามว่า รอยพระพุทธบาทรอยแรก หรือรอยต้นๆ อยู่ที่ไหน

ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะพบเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทไว้โดยเฉพาะ เข้าใจว่าจากนั้นมาเลยมีการจำลองพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการะ

เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวกุรุรัฐ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาและลูกสาวสวยคนหนึ่งนามว่า มาคันทิยา ผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้แต่งงานกับชายใด อ้างว่าไม่มีชายใดเหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่งพราหมณ์บิดาของสาวงามคนที่ว่านี้พบพระพุทธเจ้าเข้าก็เกิดติดอกติดใจในบุคลิกภาพอันสง่าของพระพุทธองค์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “สมณะ ข้าฯ มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง เหมาะกับท่านมาก ข้าฯ ยินดียกให้เป็นภริยาของท่าน โปรดรออยู่ตรงนี้นะ ข้าฯ จะไปพาลูกสาวมาให้”

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับ ณ จุดที่พราหมณ์บอก เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากที่นั้นนัก พราหมณ์รีบไปบอกภริยาให้แต่งตัวให้ลูกสาว บอกว่าได้พบบุรุษผู้เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว จะรีบพาไปหา

ชาวเมืองได้ทราบข่าวก็พากันตามไป เพราะเท่าที่แล้วๆ มาพราหมณ์ไม่ยินดียกลูกสาวให้ชายหนุ่มคนใด อ้างว่ายังไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน บัดนี้แกบอกว่าพบชายหนุ่มที่เหมาะสมแล้ว จึงอยากจะไปดูว่าจะหล่อเหลาปานใด

ไปถึงจุดนัดหมาย พราหมณ์ไม่พบพระพุทธองค์ จึงสอดส่ายตาไปมา พบรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ จึงร้องบอกภริยาว่า “นี่คือรอยเท้าของเขา เขาต้องอยู่แถวๆ นี้แน่” ว่ากันว่า นางพราหมณีภริยาของพราหมณ์มีความเชี่ยวชาญใน “ปาทศาสตร์” (ศาสตร์ว่าด้วยการดูลายเท้า) พินิจพิจารณารอยพระพุทธบาทแล้ว จึงร้องบอกสามีว่า “เจ้าของรอยเท้านี้ไม่สนใจไยดีกามคุณแล้ว ตาเฒ่าเอ๋ย ป่วยการตามหาเขา”

พราหมณ์ดุภริยาว่า “เก็บตำราของแกไว้เถอะ อย่าทำตนเป็นจระเข้ในตุ่มเลย (คล้ายกับสำนวนไทยว่า “จระเข้ขวางคลอง” กระมัง) เจ้าหนุ่มหน้ามนคนนั้นรับปากฉันแล้ว” (ตอนแกบอกพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ประทับดุษณีภาพ พราหมณ์เลยเข้าใจว่า นิ่งคือการยอมรับ)

นางพราหมณีจึงร่ายโศลก ว่าด้วยการทายลักษณะรอยเท้าให้สามีและประชาชนที่รายล้อมอยู่ ณ บริเวณนั้นฟังดังนี้

รตฺตสฺส หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว

ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปีฬิตํ

มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ

วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ

คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง

คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย

ส่วนรอยเท้านี้ (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว

คำพยากรณ์ไม่สบอารมณ์พราหมณ์มาก บอกให้ภริยาเงียบเสียง ตนเองก็สอดส่ายตามองไปมองมาพบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ จึงจูงลูกสาวเข้าไปหา ละล่ำละลักว่า “สมณะ ข้าฯ นำลูกสาวมาให้ท่านแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสองสามีภริยามีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม จึงตรัสว่า

“พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงาม คอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนแต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอัปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”

พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน

เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่า สามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น ด้วยแรงอาฆาตริษยา

ในที่สุดกรรมก็สนองกรรม นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน

รอยพระพุทธบาทรอยนี้ นับเป็นรอยแรก หรือรอยแรกที่ทรงประทับไว้ ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะ (คือเป็น “สื่อ” สอนธรรม)

คาถาบูชารอยพระพุทธบาท

วันทามิ พุทธัง ภะวะปาระติณณัง ติโลกะเกตุง
ติภะเวกะนาถัง โย โลกะเสฏโฐ สะกะลังกิเลสัง เฉตะวานะ
โพเธสิ ชะนัง อะนันตัง ยัง นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน จะ ตีเร
ยัง สัจจะพันธะคิริเก สุเมนา จะลัคเค ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิดน
จะ ปาทัง ตัง ปะทะลัญชะนะมะหังสิระสา นะมามิ สุวัณณะมาลิเก
สุวัณณะปัพพะเต สุมะนะกูเฏ โยนะกะปุเร นัมมะทายะ นะทิยา
ปัญจะปาทะวะรัง ฐานัง อะหัง วันทามิ ทูระโตฯ อิจเจวะมัจจันตะ
นะมัสสะเนยยะ นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง
ยัง ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง ตัสสานุภาเวนะ
หะตันตราโยฯ อามันตะยามิ โว ภิกขะเว ปฏิเวทะยามิ โว ภิกขะเว
ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถาติฯ